สรุป 20 วิธีรักษาเข่าเสื่อมแบบไม่ต้องผ่าตัด

ข้อเข่าเสื่อม ไม่อยากผ่าตัด ทำอะไรได้บ้าง?
20 วิธี สำหรับรักษาผู้เป็นเข่าเสื่อมก่อนจะไปผ่าตัด และ แนวคิดในการดูแลตนเองเบื้องต้น
โดยหมอวิน นพ.ชินะโชติ ลิขิตสมบูรณ์ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู
.
วันนี้เราจะมาดูกันครับว่า นอกจากการรักษาเข่าเสื่อมโดย วินิจฉัยแล้วเอายาไปกิน รักษาอย่างไรได้อีกบ้าง

เริ่มต้นจากวินิจฉัยให้ถูก:
ต้องคิดเสมอครับว่าการปวดนั้นใช่เข่าเสื่อมจริงมั้ย ก่อนบอกว่าเป็นเข่าเสื่อมเพราะอาการเจ็บเข่า ไม่เท่ากับ เข่าเสื่อมครับ อาการเข่าเสื่อมมักปวดขณะยืน เดินแล้วปวด เพราะเกิดจากน้ำหนักตัวกดลงไป นั่งพักนอนพักแล้วดี แต่ถ้าไม่ใช่แบบนี้อาจจะเป็นโรคอื่นจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูกผสมได้ บางครั้งเป็นแค่โรคเดียว แต่บางครั้งก็มีมากถึงสามสี่โรคพร้อมกัน หรือบางครั้งอาการปวดนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อต้นขาเป็นหลัก ไม่ใช่จากเข่าเสื่อมจริง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องวินิจฉัยให้ครบและถูกต้องก่อน อาการจึงจะดี
.
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะทดลองรักษาเบื้องต้นเองได้ แต่ถ้ารักษาแล้วสองสามครั้งไม่ดีขึ้น ต้องพบแพทย์นะครับ เพราะจะช่วยเรื่องการตรวจร่างกายที่แม่นยำได้ ** เน้นย้ำว่า การตรวจร่างกายเข่าอย่างละเอียดจะได้การวินิจฉัยโรคอย่างครบถ้วน และอาการปวดหายเร็ว ไม่ควรกระโดดไปที่การรักษาเลยนะครับ ** เพราะนอกจากข้อเข่าแล้ว สาเหตุอาจมาจาก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หมอนรองกระดูกเข่า หรือ อาจมามาไกลจาก หลัง สะโพก และเท้าก็ได้ รวมถึงบางภาวะที่การรักษาหลักคือการผ่าตัด ก็จำเป็นที่จะต้องไปผ่าตัดครับ เช่น ข้อเสื่อมมากเกินไป มีหมอนรองกระดูกขาดใหญ่ หรือเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลังขาด
.
แล้วถ้าอยากตรวจเพิ่มเติม อะไรจะช่วยได้อีก:
Film xray : สามารถบอกระยะเข่าเสื่อมได้ ดูข้อเข่าเป็นหลัก มองเห็นความผิดปกติของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ได้เล็กน้อย
.
Ultrasound วินิจฉัย : ช่วยให้เห็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อรอบเข่าได้ เช่น เส้นเอ็นรอบเข่าอักเสบฉับพลันหรือเรื้อรัง เห็นน้ำในเข่า ซึ่งสามารถใช้ Ultrasound ช่วยฉีดยาลดการอักเสบหรือดูดน้ำออกจากเข่าได้ทันทีที่ตรวจ
.
MRI : เห็นความผิดปกติของข้อเข่า เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆอย่างชัดเจน ความแม่นยำสูงที่สุด เห็นโครงสร้างบางอย่างที่ Ultrasound มองไม่เห็นเช่น เอ็นไขว้หน้า แต่ต้องอ่านพร้อมการตรวจร่างกายที่ได้ เพราะอาการปวดอาการไม่สัมพันธ์กับภาพที่ออกมา ต้องจับคู่ให้ตรงกันครับ (ข้อดีคือ สิทธิราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกได้นะ)
.
แต่ก็มีโรคบางโรคที่ตรวจด้วยภาพก็ไม่เจอ เหมือนผี มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริง เช่นกล้ามเนื้อหดเกร็ง (myofascial pain syndrome) หรือภาษาทั่วไปคือ office syndrome แต่ไปขึ้นที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านในบนของเข่าแทน ซึ่งเจอว่าเป็นสาเหตุการปวดของคนที่เป็นข้อเข่าเสื่อมบ่อยมากครับ
.
——————–
.
คราวนี้มาถึงการรักษาก่อนผ่าตัด 20 วิธี เริ่มจากเบาเบาไปจนซับซ้อนขึ้น:
.
1. ออกกำลังกาย
เพื่อเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อเข่าด้านหน้า เป็นการรักษาที่จำเป็นที่สุดแต่ไม่ทำกันมากที่สุด 😅 ถูกที่สุดเพราะฟรี รักษาตรงจุด เพราะกล้ามเนื้อต้นขาที่แข็งแรงจะไปช่วยรับแรงพยุงข้อเข่าที่เสื่อมไปได้ ควรทำทุกวัน จะใช้วิธีท่านั่งบนเก้าอี้แล้วเหยียดเข่าขึ้นมาด้านหน้า 20 ครั้ง 3 ชุดต่อวัน หรือ เดินในน้ำ หรือจะปั่นจักรยานอยู่กับที่ 30 นาที แล้วปรับให้มีความฝืดเล็กน้อยก็ดีทั้งหมด ขอให้ทำนะครับ
.
2. ลดน้ำหนัก
เป็นอีกวิธีนึงที่รักษาอาการปวดจากเข่าเสื่อมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการลดน้ำหนักเพียง 10% ของน้ำหนักตัวจะช่วยลดอาการปวดได้ดี คราวนี้ถามว่าจะลดอย่างไรดีที่สุด ผมแนะนำการปั่นจักรยานแบบอยู่นิ่งโดยปรับความฝืดนิดนึงให้กล้ามเนื้อต้นขารู้สึกตึง อย่างน้อย 250 นาที/สัปดาห์ (เฉลี่ย 45 นาทีต่อวัน) ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงช่วยพยุงข้อเข่า และลดน้ำหนักจากระยะเวลาการออกกำลังกายที่นานพอได้ภายในครั้งเดียว
.
3. ปรับท่าทาง
เนื่องจากท่าทางบางท่า โดยเฉพาะการงอเข่าจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบง่ายๆ โดยเฉพาะการนั่งพับเพียบ นั่งยอง นั่งขัดสมาธิ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการนั่งมาเป็นนั่งกับเก้าอี้ปกติครับ
.
4. ยาแก้อักเสบ/ยาแก้ปวด
กลุ่มยาแก้อักเสบ เช่น ibuprofen celecoxib จะกินก็ได้ ทาก็ได้ ใช้ในกรณีที่มีการอักเสบฉับพลันตามชื่อครับ ถ้าไม่อักเสบ เราใช้ยาแก้อักเสบเพื่อหวังผลแก้ปวด ซึ่งจริงๆหากไม่มีการอักเสบแล้วอาจใช้แค่ยาบรรเทาปวดเพียง paracetamol ก็เพียงพอแล้ว ลดปวดได้ดีและผลข้างเคียงต่ำครับ
.
5. สนับเข่า
สามารถใส่เพื่อช่วยให้เข่ากระชับ ลดอาการปวดเวลายืนหรือเดินได้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นเข่าเสื่อมบางคน อาจจะมีอาการเข่าหลวม มีความมั่นคงด้านข้างของเขาลดลง ซึ่งต้องใช้สนับเข่าแบบมีแกนด้านข้างเพื่อช่วยเพิ่มสมดุลของเข่า จะทำให้เข้ามั่นคงขึ้นและลดปวดได้
.
6. ฝังเข็มแบบแผนปัจจุบัน
ได้ผลดี ภายในการรักษา 1-3 ครั้ง ในกรณีที่อาการปวดเข่านั้นเกิดจากกล้ามเนื้อรอบเข่าหรือต้นขาหดเกร็งและทำให้ปวดร้าวมาที่เข่าได้ แต่ไม่ได้ช่วยในกรณีข้อเข่าเสื่อมจริงๆ หรือ เอ็นอักเสบ
.
7. ฝังเข็มจีน
มีงานวิจัยว่าสามารถช่วยลดอาการปวดเข่าได้หลังจากฝังเข็มจีน ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายและเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น แต่อาจจะใช้จำนวนครั้งในการปักหลายครั้งจึงจะดีขึ้น ทั้งนี้ต้องทำร่วมกับการออกกำลังกายร่วม และหลีกเลี่ยงการฝังเข็มในกรณีข้อเข่าหรือเส้นเอ็นรอบเข่าอักเสบฉับพลัน
.
8. การนวด
หมอไม่ห้ามนวดนะครับ การนวดสามารถช่วยรักษาอาการปวดในกรณีที่กล้ามเนื้อรอบเข่าตึงหรือหดเกร็ง จะได้ผลดี แต่ถ้าเป็นเส้นเอ็นอักเสบ หมอนรองกระดูก เข่าอักเสบ การบาดเจ็บฉับพลัน มีน้ำในเข่า ห้ามนวดนะครับ เพราะจะยิ่งอักเสบมากขึ้น วิธีง่ายๆคือถ้านวดแล้วปวดมากขึ้น ต้องบอกให้หยุด ห้ามไปต่อ การนวดที่ดีคือนวดแล้วต้องสบาย ห้ามนวดข้อและเส้นเอ็น ซึ่งมักจะทำให้อักเสบเพิ่มขึ้น
.
9. ประคบร้อน
ใช้ได้ในกรณีปวดเข่าเรื้อรัง หรือปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง ตึง ให้ประคบ 15 นาที วันละ 3 ครั้ง แต่ถ้ามีอักเสบฉับพลัน ของข้อเข่าหรือเส้นเอ็น ดูได้จากว่ามีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน อยู่ ห้ามประคบร้อนเพราะยิ่งทำให้อักเสบ บวมและหายช้าขึ้น
.
10. ประคบเย็น
ตรงข้ามกับประคบร้อน ใช้เวลามีข้อเข่าหรือเส้นเอ็นอักเสบฉับพลัน มีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน อยู่ ให้ประคบ 15 นาที วันละ 3 ครั้งครับ
.
11. อัลตราซาวน์
เป็นเครื่องมือไฟฟ้าพื้นฐานทางกายภาพบำบัด ช่วยลดอาการปวดในตำแหน่งที่มีการอักเสบฉับพลัน และช่วยเพิ่มการฟื้นตัวของบริเวณที่มีการฉีดขาดเล็กๆและการอักเสบเรื้อรังได้ ใช้ได้ในแทบทุกภาวะของเข่าผิดปกติ หาได้ง่าย แต่อาจต้องใช้เวลาทำต่อเนื่องหลายครั้ง
.
12. High power laser
ถ้าเป็นโรคหรืออาการที่เกิดการอักเสบฉับพลัน เช่นเข่าเสื่อมที่มีการอักเสบฉับพลัน เอ็นอักเสบฉับพลัน มักได้ผลดี โดย Laser จะช่วยลดการอักเสบ ลดบวม และเพิ่มการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อได้
.
13. Shockwave
เป็นคลื่นกระแทกยิงในบริเวณที่ปวด ทำให้เกิดแผลเล็กๆและทำให้เกิดการฟื้นฟูใหม่ ถ้าเป็นโรคหรืออาการที่เกิดจากการปวดเรื้อรัง การฉีกขาดเล็กน้อย หรือกล้ามเนื้อหดเกร็ง อาจพิจารณาใช้ Shockwave ในการรักษาได้แต่ใช้เวลารักษาหลายครั้ง และห้ามยิง shockwave เมื่อบาดเจ็บฉับพลันเพราะจะยิ่งอักเสบและอาการปวดมากขึ้น
.
14. PMS (Peripheral magnetic stimulation)
เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายิงบริเวณจุดที่มีปัญหา ซึ่งตามงานวิจัยสามารถช่วยลดปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ จึงอาจใช้ในกรณีอาการเข่าเสื่อมครั้งนั้นมีสาเหตุการปวดมาจากกล้ามเนื้อ แต่ PMS อาจไม่ได้ไปรักษาสาเหตุที่ข้อเข่าที่เสื่อมโดยตรง
.
15. ใช้เข็มดูดน้ำจากเข่า
บางครั้งเข่าที่เสื่อมก็อาจจะเกิดการอักเสบและมีการสร้างน้ำในเข่ามาก ทำให้รู้สึกบวมตึงเข่า งอเข่าแล้วฝืด ยืนเดินปวด การรักษาที่ดีและได้ผลเร็ว คือใช้เข็มดูดน้ำในเข่าออกมา นอกจากจะทำให้หายบวม ฝืดตึงได้ทันที ยังนำไปส่งตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมได้ด้วยครับ
.
16. กินยา/ฉีดยาเสริมน้ำในเข่า Hyaluronic acid
เป็นการรักษามาตรฐานโดยการเพิ่มสารน้ำหล่อลื่นภายในเข่าเพื่อช่วยหล่อลื่นและลดแรงกระแทกภายในเข่า ทำให้ลดปวด ขยับเข่าคล่องขึ้น และอาจช่วยลดเสียงเวลาขยับเข่าได้ มีทั้งรูปยาผงแบบชงทานวันละ 1 ซองอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่อยากทาน สามารถใช้รูปแบบฉีดเข่า มีทั้งแบบ 1 หรือ 3 เข็มตาม brand ยาฉีดและขนาดอนุภาคของชนิดสารน้ำที่ใช้ ซึ่งช่วยให้ลดปวดได้ 3-12 เดือนหลังฉีดแล้วแต่ความรุนแรงของโรค
.
17. ฉีดยาสเตียรอยด์
ปัจจุบันนี้ไม่แนะนำให้ฉีดสเตียรอย์เข้าข้อเข่าแล้ว จะเกิดผลเสียมากกว่า แต่หากการวินิจฉัยเป็น จุดเกาะกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นรอบเข่าต่างๆอักเสบฉับพลัน ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการรักษาและหายเร็วมากได้โดยขึ้นกับการพิจารณาของคุณหมอนะครับ
.
18. ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP
หลักฐานทางวิชาการปัจจุบันเริ่มมีการสนับสนุนว่าช่วยลดปวดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เข่ามากขึ้นในผู้ที่เป็นเข่าเสื่อม และเอ็นรอบเข่าอักเสบต่างๆ โดยปกติจะฉีด 1-3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 1 เดือน หากอาการดีขึ้นก่อนก็ไม่ต้องครบ 3 เข็มก็ได้ ผลอยู่ได้ 3-12 เดือนแล้วแต่ความรุนแรงของเข่าเสื่อม ที่สำคัญเนื่องจากราคาสูง หากจะฉีดที่ใด ต้องดูผู้ที่จะฉีดว่าวินิจฉัยถูกจริงไหม ชนิดของหลอดปั่น เครื่องปั่น ชนิดเกล็ดเลือดที่ได้ว่ามีเม็ดเลือดขาวมั้ย (ซึ่งควรจะมีเม็ดเลือดขาวด้วยจะได้ผลดีกว่า) ปัญหาที่อาจเจอคือ ราคาอาจไม่สัมพันธ์กับคุณภาพ ราคาที่สูงไม่เท่ากับดี บางครั้งมีการใช้หลอดทดลองธรรมดามาใช้ปั่นซึ่งอาจทำเข่าติดเชื้อง่ายครับ ตรวจสอบและสอบถามชนิดของหลอดที่ใช้ เครื่องปั่น และชนิดของเกล็ดเลือดที่ได้ เพี่อก่อนการตัดสินใจฉีดเสมอครับ
.
19. ฉีด Stemcell Mesenchymal / cord blood
ปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานทางวิชาการว่าได้ผลลดปวดเข่ามากขึ้น แต่วิจัยยังไม่มากนัก ราคาสูง จึงอาจพิจารณาฉีดในกรณีที่รักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล และสามารถ support ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงได้ จึงยังไม่ได้เป็นการรักษาหลักขณะนี้
.
20. ใช้ความร้อนจี้เส้นประสาทเลี้ยงข้อเข่า Radiofrequency ablation
เป็นการใช้เข็มความร้อนเล็กๆเข้าไปจี้เส้นประสาทที่มาเลี้ยงข้อเข่าเพื่อให้หยุดการส่งความรู้สึกปวดจากเข่า ซึ่งได้ผล 6-24 เดือนขึ้นกับวิธีที่ใช้ ใช้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ดีขึ้นแล้ว / ผ่าตัดไม่ได้เพราะอายุมากเดินไป หรือ มีโรคประจำตัวมาก / กลัวการผ่าตัด หรือผ่าตัดแล้วยังมีอาการปวดอยู่
.
แล้วกิน collagen ที่โฆษณากันอยู่ work มั้ย??
จริงๆแล้วไม่มีหลักฐานว่าการกิน collagen ช่วยลดปวดหรือรักษาโรคเข่าเสื่อม และไม่ได้มีผลข้างเคียงชัดเจน เอาเป็นว่าถ้ามีเงิน support พอ จะลองกินก็ได้ ไม่มีประโยชน์และโทษชัดเจนครับ แต่ราคาการรักษาหลักข้อแรกๆรวมกันมักถูกกว่าเสมอ
.
ผ่าตัด
เมื่อถึงเวลา เช่น ข้อเข่ามีความเสื่อมมากเกินไป เป็นระยะท้ายๆและปวดไม่หาย เข่าโก่ง หรือมีโครงสร้างบางอย่างที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดหมด ก็จำเป็นที่จำต้องไปผ่าครับ
.
หลังผ่าตัด
ถ้าผ่าตัดแล้วไม่หายปวด เราต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่าอาการปวดนั้นเกิดจากข้อเข่าจริงหรือไม่ หรือยังฟื้นฟูเข่าไม่ดีพอ เพราะการออกกำลังกายหลังการผ่าตัดสำคัญไม่แพ้ขณะผ่าตัดเลย นอกจากนี้ยังสามารถใช้แนวคิดการรักษาโดยวิธีก่อนผ่าตัดเสริมได้ครับ ย้อนอ่านวิธีตั้งแต่ต้นใหม่ได้เลย
.
สุดท้าย ความคาดหวังที่ถูกต้องต่อการรักษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สำคัญ เพราะโรคเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆตามวัยและการใช้งาน ความคาดหวังที่ถูกต้องจึงเป็นการลดอาการปวดด้วยตนเองหรือมารพ.รักษา แต่ในระยะยาว การเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงเพื่อช่วยรับแรงกระแทก รวมถึงการใช้งานที่ถูกต้องจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งช่วยชะลอการผ่าตัด หรือ ทำให้ผลการผ่าตัดดีขึ้น เพื่อจะได้มีเข่าได้ใช้ไปนานๆครับ
.
หากท่านคิดไม่ออก ตัวเลือกเยอะไป ท่านสามารถติดต่อแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูใกล้บ้านท่านเพื่อช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่ถูกต้องร่วมกับเลือกวิธีที่เหมาะสมกับคุณซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในรักษาได้ เพราะบางอย่างสิทธิราชการ รัฐวิสาหกิจเบิกได้ บางอย่างต้องนอนรพ.เพื่อเบิก บางอย่างใช้ประกันสุขภาพ opd ได้ จะได้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุดได้ครับ
.
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ

Contact: https://lin.ee/74BsV44